เชียงดาว กับแนวคิดสู่ เมืองดาว

“ฟ้ายิ่งมืด ดาวยิ่งกระจ่าง

ฟ้ายิ่งอับแสง ดาวยิ่งระยับ”

หลายปีก่อนที่ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ดอยหลวงเชียงดาว เป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑลมณฑล (Biosphere Reserve) แห่งใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันแนวคิดให้ อำเภอเชียงดาว เป็นเมืองดาว แหล่งดูดาวในเมืองแห่งแรก ที่ไม่ต้องดั้นด้นไปดูดาวระยิบระยับ ทางช้างเผือก ในป่าหรือที่ห่างไกลอันปราศจากแสงไฟ

เมืองดาวสำหรับคนชอบดูดาว อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในหลายประเทศ

ในอดีตมนุษย์คุ้นเคยกับการดูดาวในคืนฟ้ามืด การมองดวงดาวเป็นทั้งความรื่นรมย์ เสน่ห์และแหล่งความรู้มานานแสนนาน แต่ปัจจุบันชีวิตในเมืองที่มีแสงสีแสงไฟสว่างไสวไปทั้งคืน และสว่างจ้าขึ้นสู่ฟากฟ้า จนท้องฟ้าไม่เคยมืดสนิทอีกเลย ได้ทำให้มนุษย์ห่างไกลจากดวงดาวอย่างไม่รู้ตัว

ห่างไกลจนแทบจะไม่รู้อะไรเลย

คืนหนึ่งในปี 1994 เมืองลอสแอนเจลิส เวลาประมาณตี 4 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 6.7 แมกนิจูด ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ไม่มีไฟตามท้องถนนหรืออาคารบ้านเรือนเป็นเวลานาน พอหลายคนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกเขาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต คือดาวระยิบระยับและทางช้างเผือกพาดกลางท้องฟ้า มันงดงามมาก

ทำให้บางคนตื่นตกใจ ถึงกับโทรไปแจ้งความที่สายด่วน 911 ของตำรวจ บอกว่า

 “มีเมฆสีเงินประหลาดขนาดยักษ์ลอยเหนือท้องฟ้า มันน่ากลัวมาก”

ชาวเมืองลอสแอนเจลิสจำนวนมากไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อน และพากันตื่นเต้นที่เห็นว่าท้องฟ้างดงามเพียงใดยามมืดมิด

มีการศึกษาพบว่า แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่คนอเมริกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต เพราะหากมองจากนอกโลกในยามค่ำคืนลงมา ประเทศนี้สว่างไสวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

และคนทั่วโลกราว 2,000 ล้านคน ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเช่นกัน

ในอดีตมนุษย์มีความสุขกับการดูดาวยาวค่ำคืน แต่มนุษย์ในเมืองเริ่มห่างไกลจากดวงดาว ตั้งแต่เริ่มมีหลอดไฟฟ้าดวงแรกได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ท้องฟ้าอันมืดสนิทในยามค่ำคืนค่อยๆ เลือนหายไป และเริ่มสว่างจ้ามากขึ้นจากแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามตึกระฟ้า หลอดไฟตามท้องถนนที่สว่างฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แสงสว่างกระทบชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้าเรืองแสงไปทั่ว ดาวที่เคยเห็นระยิบระยับก็มองแทบไม่เห็น จนผู้คนต่างพากันลืมความงดงามในยามค่ำคืนไปนาน

ปัญหาใหญ่เกิดจากแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยไม่จำเป็น

การใช้แสงสว่างในยามค่ำคืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ทุกวันนี้เราใช้แสงสว่างยามค่ำคืนเกินความจำเป็น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า มลภาวะทางแสง อันหมายถึง แสงประดิษฐ์ที่เกิดจากการกระทำกิจวัตรของมนุษย์ในเวลากลางคืน รวมถึงมลภาวะของแสงที่สว่างจ้าเกินความจำเป็น จึงเริ่มมีคนหลายกลุ่มเริ่มให้ความสนใจในการอนุรักษ์ท้องฟ้าให้มืด

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หนึ่งในผู้สนใจเรื่องเมืองดาวได้เล่าให้ฟังว่า

“แนวคิดเรื่องเมืองฟ้ามืดถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มนักดูดาวที่ออกแสวงหาพื้นที่ที่มีความมืดเพียงพอสำหรับการดูดาว เรียกว่า กลุ่มอนุรักษ์ฟ้ามืด (Dark Sky Preservation)  ซึ่งนับเป็นเรื่องยาก ที่จะเจอสถานที่เหล่านั้นในยุคที่ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยแสงไฟมากกว่าแสงดาว”

ทุกวันนี้การดูดาวเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดแนวคิดในการรณรงค์ให้มีเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserves) ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก  อาทิบนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ มีชื่อว่า ‘เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอาโอรากิแมคเกนซี’ (Aoraki Mackenzie International Dark Sky Reserve) พื้นที่ประมาณ 4,144 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศจากสมาคมพิทักษ์ความมืดแห่งท้องฟ้าสากล (International Dark-Sky Association) ให้เป็น ‘เมืองดาว’ หรือ ‘เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า’ และเป็นหนึ่งในสถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดในโลก เพราะยามค่ำคืนมีท้องฟ้าที่มืดสนิท ไม่มี ‘มลภาวะทางแสง’ บริเวณแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ควบคุมแสงนอกอาคารไม่ให้ฟุ้งกระจายมาหลายสิบปีแล้ว และผลของการควบคุมแสง นอกจากทำให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะทางแสงแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย

สมาคมแห่งนี้เชื่อว่า “ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดาวเป็นมรดกพื้นฐานของมนุษยชาติ และการปกป้องท้องฟ้าที่มืดมิดเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างความมั่นใจว่า คนในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปจะมีโอกาสได้มองเห็นดวงดาว”

นักดูดาวจากทั่วโลกต่างพากันเดินทางมาดูดาวบนเกาะใต้แห่งนี้ จนกลายเป็นรายได้สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ไปโดยปริยาย อาทิเช่นเมืองทวิเซลหนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ เคยมีรายได้หลักจากการเกษตรปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่ปัจจุบันเมืองนี้กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศนิวซีแลนด์ และสร้างรายได้ให้ปีละ ๖,๐๐๐ ล้านบาท จากการดูดาว

มูลค่าเพิ่มที่สร้างได้ง่ายมาก ลงทุนน้อยมาก เพียงแค่ทำให้ฟ้ามืด

กลางเดือนตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้มาเล่าให้ที่ประชุมของชาวบ้านตำบลแม่นะ ฟังเรื่องปัญหาแสงไฟฟ้าในยามค่ำคืนและอนาคตของเชียงดาวว่า ทำไมควรจะเป็นเมืองดาว

“มลพิษแสงแตกต่างจากแสงไฟสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็น มันเป็นเศษแสงที่ก่อความเสียหายและสิ้นเปลือง มาจากการจัดการไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ฟุ้งเสียออกไปยังบริเวณที่ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเราออกแบบแสงให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมให้ส่องเฉพาะส่วนที่ต้องการเห็นในเวลาที่ต้องการเห็นและในปริมาณที่พอดิบพอดี ไม่จ้าเกินจำเป็น เราจะสามารถลดมลพิษแสงที่ฟุ้งเสียเปล่าออกไปได้มาก แสงไฟที่ไม่ได้ออกแบบหรือจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ไม่ต่างจากถังน้ำที่มีรูรั่ว ให้น้ำไหลออกไปโดยไร้ประโยชน์ เช่นเดียวกับแสงจากหลอดไฟที่ส่องสว่างออกไปทุกทิศทางโดยไร้ประโยชน์”

 “มลพิษแสงคือแสงที่ฟุ้งออกมาจากไฟสว่างยามค่ำคืน ยิ่งมากยิ่งพร่า ฟ้าไม่มืดก็ไม่เห็นดาว  ทำไมเราไม่ออกแบบไฟฟ้าตามท้องถนน ที่ส่องกระทบลงพื้นด้านล่างให้คนได้เห็น แต่มีที่ครอบบังไม่ให้แสงสว่างกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างเปล่าประโยชน์”

เชียงดาวเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า เพียงดาว  อันมีความหมายถึง เสมอ  จึงมีความหมายว่า ‘ห่างจากดวงดาวเพียงแค่เอื้อมมือ’ และหากใครมีโอกาสขึ้นไปนอนดูดาวระยิบระยับบนยอดดอยหลวงเชียงดาว ระดับความสูง 2,175 เมตร อันมืดสนิท จะรู้สึกได้ถึงคำว่า เพียงดาว

เชียงดาว เป็นอำเภอขนาด ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรไม่ได้หนาแน่น เพียง ๙ หมื่นกว่าคน (เปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตรแต่มีประชากร ๑๕ ล้านคน) และผู้คนอยู่อาศัยกระจัดกระจาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่า และที่ราบลุ่ม จึงเหมาะที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการสร้าง เมืองดาว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เริ่มโครงการ ‘ลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ’ เพื่อคาดหวังว่าในอนาคตจะเกิด เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserve) โดยมีโครงการนำร่องในหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  ได้เคยมาตรวจวัดค่าแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นในชุมชนอำเภอเชียงดาว  และพบว่าไม่ได้มีแสงฟุ้งมากเกินไป และหากสามารถปรับลดมุมของแสงไฟที่ฟุ้งกระจายขึ้นท้องฟ้า หลายพื้นที่ในอำเภอเชียงดาว ก็น่าจะเหมาะสมในการเป็น เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ได้

ดร.สรณรัชฎ์ได้กล่าวต่อไปว่า “การคืนความมืดและแสงสว่างจากดวงดาวให้เมืองที่จมอยู่กับมลภาวะทางแสงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของเราทุกคน เพราะมีหลักการง่ายๆ เพียงเรื่องเดียวคือ ‘การออกแบบแสงไฟ’

เริ่มต้นจากการกำหนดระดับความสูง ออกแบบโคมไฟสำหรับไฟที่ใช้ในบ้าน หรือกระบังสำหรับไฟที่ใช้ตามท้องถนน ให้เหมาะสมกับจุดที่ต้องการติดตั้ง การออกแบบไฟให้สอดคล้องกันตามลักษณะดังกล่าว ช่วยบังคับทิศทางของแสงไม่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นไปบดบังทัศนียภาพบนท้องฟ้า และสาดส่องเข้าไปรบกวนการนอนของผู้คนตามบ้านเรือนต่างๆ หรือรุกล้ำเข้าไปรบกวนเส้นทางการอพยพและการขยายพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ธรรมชาติ”

ทุกวันนี้ คนกลุ่มเล็ก ๆในอำเภอเชียงดาวพยายามผลักดันให้อำเภอแห่งนี้ ค่อย ๆกลายเป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า เพื่อดึงดูดให้นักดูดาวหลั่งไหลมาที่นี่ ด้วยการพูดคุยกับหน่วยราชการ หาแนวทางปรับปรุงออกแบบที่ครอบโคมไฟตามท้องถนน เพื่อป้องกันไม่ให้แสงฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่คนบนถนนยังเห็นแสงสว่าง ตามท้องถนน  ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพูดคุยและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สนใจและให้ความสำคัญเพียงใด ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก

แต่หากทำได้สำเร็จ เชียงดาวอาจจะเป็นแหล่งดูดาวในเมืองแห่งแรก เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวผู้หลงเสน่ห์ดวงดาวในอนาคตทีเดียว

นอกจากนั้นมลภาวะทางแสงไม่ได้ทำให้เราไม่เห็นดาวหรือทางช้างเผือกเท่านั้น  แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแสงสว่างจากนอกบ้านในตอนกลางคืน ที่รบกวนการหลับนอนของมนุษย์ ส่งผลต่อเมลาโทนิน

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง ต่อมไพเนียลนี้จะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย ทำให้เรารู้สึกง่วง พักผ่อนนอนหลับได้ลึกและเต็มที่

ความมืดเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งของเมลาโทนินและหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง ในช่วงเวลากลางวันต่อมไพเนียลไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีแสงสว่าง

เมลาโทนิน ช่วยให้เราหลับสนิท สุขภาพดี มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคลอเรสเตอรอล และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น

แต่หากแสงรบกวนการนอน ทำให้เมลาโทนินหลั่งในร่างกายน้อยลง นอนไม่พอเพียง จะทำให้นาฬิกาชีวภาพ หรือวงจรระบบการทำงานในร่างกายคนเราที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน เกิดอาการเครื่องรวน

สิ่งที่ตามมา คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม

นอกจากนั้นการเปิดแสงสว่างจ้ามากเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก

นกอพยพจำนวนมากที่เดินทางเวลากลางคืน โดยใช้แสงสว่างจากดวงดาวและดวงจันทร์เป็นเครื่องมือชี้ทิศทาง ก็หลงทิศได้ง่ายๆ จากแสงสว่างของมนุษย์

ทุกปีในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนกจำนวนมากหลงทิศและบินชนกระจกตึกอาคารสูงที่เปิดไฟสว่างไสวยามค่ำคืน ตายปีละ 100-1,000 ล้านตัว

ในยามค่ำคืน ลูกเต่าทะเลจำนวนมากที่ฟักออกมา แทนที่จะคลานลงทะเล กลับหลงทิศ เดินลึกเข้าไปบนฝั่ง ตามแสงสว่าง เพราะคิดว่าเป็นแสงเรืองๆ จากท้องทะเล

หิ่งห้อยในหลายพื้นที่ ค่อยๆ หายไป เพราะความสว่างมากเกินไปทำให้การผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยลดน้อยลง

ในหลายพื้นที่ของอำเภอเชียงดาว เป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย หากมีการปรับการใช้แสง หิ่งห้อยอาจจะกลับมา และน่าจะเป็นเสน่ห์อย่างหนี่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยว มาดูดาวและดูหิ่งห้อย ยามค่ำคืน

ปัญหาจากมลภาวะทางแสงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาเรื่องนี้กลับง่ายดายมากและแทบจะไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรเลย

ปัญหามลภาวะแสง แก้ไขง่ายกว่าปัญหามลภาวะเรื่องอื่น อาทิมลภาวะอากาศ น้ำ การใช้สารเคมีในดิน ที่ต้องมีคู่ขัดแย้งหลายฝ่าย แต่มลภาวะแสงไม่สร้างความขัดแย้งกับผู้คนในสังคม เพียงแค่จัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ทุกคนก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน

เพราะกิจกรรมการใช้แสงสว่างยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหลอดไฟและโคมไฟให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้โคมไฟที่บังคับให้แสงมีทิศทางตกลงบนพื้นดิน ไม่ต้องฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างไม่จำเป็น แต่ความสว่างยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะไฟนอกอาคาร อาทิ ไฟฟ้าตามท้องถนนที่มุ่งความปลอดภัยของผู้คนเป็นหลัก การปรับทิศของแสงให้ตกลงบนพื้นก็ได้ความสว่างเท่าเดิม ไม่ต้องฟุ้งขึ้นสู่ท้องฟ้า

เพียงเท่านี้ ความงดงามของแสงดาวระยิบฟ้าก็กลับคืนมา

ทุกวันนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการจัดการมลภาวะทางแสง อาทิ ในประเทศสิงคโปร์มีการจัดทำแผนแม่บทการใช้แสงสว่างตามพื้นที่ต่างๆ  มีการแบ่งโซนการใช้หลอดไฟและความเข้มของแสงตามความจำเป็น เพื่อควบคุมมลภาวะทางแสงและการประหยัดพลังงาน

หากแนวคิดในการทำให้เชียงดาวเป็นเมืองดาว อาจจะเป็นโครงการนำร่องที่เป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑลมณฑล (Biosphere Reserve)  และสอดคล้องกับสื่อท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง Lonely Planet ปักหมุดให้ Dark Skies เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในปัจจุบัน

และพิสูจน์ความฉลาดของผู้บริหารในการจัดการทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด และลงทุนต่ำที่สุด เหมือนอย่างที่หลายพื้นที่ในเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จมาแล้วในการสร้าง เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserve) จนสามารถสร้างทั้งรายได้มหาศาลควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

Published by vanchaitan

writer,traveller,photographer,

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: